ปุ๋ยอินทรีย์
ปุ๋ย หมายถึง สารที่ใส่ลงในดินเพื่อให้ธาตุอาหารแก่พืช ซึ่งโดยทั่วไปแล้วพืชต้องการธาตุอาหารทั้งหมด 16 ชนิด ได้แก่
- ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โพแทสเซียม (K) เป็นธาตุหลักที่เป็นแร่ธาตุพื้นฐานที่พืชต้องการและจำเป็นต้องใช้ในปริมาณมาก
- แคลเซียม (C) แมกนีเซียม (Mg) กำมะถัน (S) เป็นธาตุรองที่พืชต้องการใช้ในปริมาณที่น้อย หากขาดหรือพร่องไปก็ไม่ส่งผลกระทบที่เสียหายรุนแรงมากนัก
- เหล็ก (Fe) แมงกานีส (Mn) โบรอน (B) โมลิบดินัม (Mo) ทองแดง (Cu) สังกะสี (Zn) คลอรีน (Cl) เป็นธาตุเสริมพืชต้องการใช้ในปริมาณที่น้อยมาก แต่พืชก็ขาดไม่ได้เช่นกัน
- ออกซิเจน (O) ไฮโดรเจน (H) คาร์บอน (C) เป็นธาตุที่พืชได้รับจากน้ำและอากาศ
และในธรรมชาติ ธาตุอาหารหลักของพืชหรือธาตุปุ๋ย คือ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) เป็นธาตุที่พืชต้องการในปริมาณมากเมื่อเทียบกับธาตุอื่นๆ ซึ่งในดินมักมีไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มเติมธาตุเหล่านี้โดยการให้ปุ๋ย
แหล่งธาตุอาหารหลักหรือธาตุปุ๋ยของพืชในธรรมชาติ
ไนโตรเจน เป็นธาตุอาหารหลักที่พบว่าขาดในพืชบ่อย และมักสูญเสียได้ง่ายจากการชะล้างหรือระเหย มีหน้าที่ ช่วยส่งเสริมการสร้างโปรตีนในพืช ควบคุมการเจริญเติบโต ถ้าขาดจะะทำให้การเจริญเติบโตชะงัก ใบกลายเป็นสีเหลือง เพราะขาดคลอโรฟิลล์ ธาตุไนโตรเจนพบมาก ในส่วนสีเขียวเข้มแก่จัดของพืชทุกชนิด ได้แก่ พืชตระกูลถั่ว ก้ามปู กระถิน โสน มะขามเทศ พุทรา มะขามเทศ มัยราบ ทองหลาง สาหร่ายน้ำจืดทุกชนิด และเมือก คาว เลือด เนื้อปลาสดๆ ในสัตว์ และในน้ำฝน น้ำค้าง หรือน้ำในแหล่งธรรมชาติ
ฟอสฟอรัส เป็นธาตุที่ละลายในน้ำได้ยาก การดูดซึมขึ้นอยู่กับความเป็นกรดเป็นด่างของดิน มีหน้าที่ช่วยให้รากดูดซึมธาตุโพแทสเซียม จากดิน ช่วยให้ลำต้นแข็งแรง ไม่ล้มง่าย หากพืชขาดธาตุนี้จะทำให้รากเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและหยุดการเจริญเติบโต ธาตุฟอสฟอรัสพบมาก ในรากสดและเมล็ดในสดแก่จัดของพืช และใบไม้แก่ เช่น ชะอม ขจร ถั่วพู กระถิน มะระ บัวบก ผักบุ้งจีน สะระแหน่ หน่อไม้ฝรั่ง ถั่วดำ ถั่วลิสง ถั่วเหลือง งาดำ และ พบใน เกล็ด ก้าง และกระดูกปลาทะเล อีกทั้งในอาหารของคน เช่น กะปิเคย มัสตาส นมผงขาดมันเนย เนยแข็ง เป็นต้น
โพแทสเซียม เป็นธาตุที่ละลายน้ำได้ดี พบมากในส่วนของ ปลายราก ใบอ่อน และท่อลำเลียงอาหาร มีหน้าที่ ช่วยในกระบวนการสังเคราะห์แสง การลำเลียงอาหารไปเลี้ยงของพืช และช่วยในการต้านทานโรคบางชนิด ถ้าขาดธาตุนี้จะทำให้ใบแห้งตาย ใบเป็นจุด ใบม้วนงอ สารโพแทสเซียมพบมากในเปลือก และเนื้อของผลไม้รสหวานมากสุกงอม เช่น กล้วย มะละกอ ขนุน ทุเรียน ยกเว้นเงาะและมังคุด และผลดิบแก่จัด เช่น ฟักทอง แตงทุกชนิด กระเจี๊ยบ พริกสด มะเขือพวง ผักกาดขาว ผักกาดหอม และเนื้อสดและเครื่องในของสัตว์น้ำ
ปุ๋ยอินทรีย์คืออะไร
ปุ๋ยอินทรีย์ คือ ปุ๋ยที่ได้จากการย่อยสลายอินทรียวัตถุต่างๆ เช่น ซากพืช ซากสัตว์ และเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ธาตุอาหารที่ได้ส่วนใหญ่ต้องผ่านกระบวนการย่อยสลาย โดยมีจุลินทรีย์เป็นตัวช่วย นิยมใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงคุณภาพดิน ให้ดินร่วนซุย แต่มีข้อเสียคือ มีธาตุอาหารน้อยและสัดส่วนไม่แน่นอนต้องใช้ปริมาณมากจึงจะเพียงพอกับความต้องการของพืช สามารถจำแนกได้ดังนี้
- ปุ๋ยหมัก คือ ปุ๋ยที่เกิดจากเศษพืชต่างๆ เช่น หญ้าและใบไม้ พืชตระกูลถั่ว เปลือกถั่วต่างๆ ต้นหรือซังข้าวโพด ฟางข้าว ผักตบชวา เมื่อนำมากองรวมกันแล้วหมักไว้จนเน่าเปื่อย (วิธีทำปุ๋ยหมัก) ควรเลือกวัสดุเหลือใช้ในการเกษตรหรือครัวเรือน หรือจากโรงงานใกล้เคียงที่สามารถหาได้ง่าย เป็นวัสดุย่อยสลายได้ง่าย เช่น ฟางข้าว ผักตบชวา ใบไม้ หญ้า ต้นและซังข้าวโพด เถาและเปลือกถั่วลิสง ส่วนต่างๆ ของมันสำปะหลัง เมื่อนำมาทำเป็นปุ๋ยหมักจะให้ธาตุอาหารหลักแก่พืชในปริมาณที่สูง หรืออาจใช้วัสดุที่ย่อยสลายยาก เช่น ขี้เลื่อย แกลบดิบ ขุยมะพร้าว กากอ้อย วัสดุเหล่านี้เมื่อเป็นปุ๋ยหมักจะให้ธาตุอาหารหลักต่ำ แต่ให้สารปรับปรุงดินมากกว่าปุ๋ยหมักที่ได้จากวัสดุที่ย่อยสลายง่าย ซึ่งจะส่งผลดีต่อดินและต้นพืชในระยะยาว ทางที่ดีจึงควรใช้วัสดุย่อยสลายยากและย่อยสลายง่ายร่วมกันในการทำปุ๋ยหมัก ซึ่งจะทำให้ปุ๋ยหมักมีทั้งธาตุอาหารและสารปรับปรุงดิน
- ปุ๋ยคอก คือ ปุ๋ยที่ได้จากสิ่งที่สัตว์ต่างๆ ขับถ่ายออกมา เช่น อุจาจาระ ปัสสาวะ ปุ๋ยคอกเป็นปุ๋ยที่มีประโยชน์ในการปรับปรุงสภาพทางกายภาพของดิน ช่วยลดอัตราการพังทลายของหน้าดิน และเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดิน และควรระวังการนำปุ๋ยคอกสด ๆ ไปใช้โดยที่ยังไม่ผ่านกระบวนการย่อยสลาย เพราะจุลินทรีย์ในดินจะดึงไนโตรเจนจากพืชมาช่วยในการย่อยสลายปุ๋ยคอก จึงทำให้พืชขาดไนโตรเจนในช่วงนั้น จนเป็นสาเหตุให้พืชมีใบเหลืองซีด
- ปุ๋ยพืชสด คือ ปุ๋ยที่ได้จากการไถกลบหรือคลุกพืชที่ยังสด และมีสีเขียวอยู่ลงไปในดิน เพื่อปรับปรุงดินและเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดิน ส่วนมากนิยมใช้พืชตระกูลถั่ว เนื่องจากมีปมรากเป็นที่อยู่ของจุลินทรีย์ที่สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ เช่น ถั่วเขียว ถั่วพุ่ม ถั่วพร้า ถั่วขอ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง และถั่วอื่นๆ โสนอัฟริกัน ปอเทือง กระถิน แค ชะอม ฉำฉา ตลอดจนพืชน้ำ เช่น จอก ผักตบชวา เป็นต้น เมื่อพืชเจริญเติบโตได้ระยะหนึ่ง จึงไถกลบในขณะที่พืชยังเขียวและสดอยู่ โดยส่วนใหญ่มักจะไถกลบในช่วงที่พืชกำลังออกดอก เพราะเป็นช่วงมีธาตุอาหารที่เหมาะสมแก่พืชมากที่สุด สามารถปลูกพืชเพื่อทำปุ๋ยพืชสดได้หลาบแบบ เช่น
– ปลูกสลับกับพืชหลัก เช่น หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้วก็ปลูกพืชปุ๋ยสด และไถกลบเมื่อพืชปุ๋ยสดเริ่มออกดอกจนถึงดอกบาน ส่วนใหญ่ประมาณ 45-60 วัน ซึ่งเป็นช่วงที่มีธาตุไนโตรเจนสูงสุด ถ้ารอจนเก็บเกี่ยวเมล็ดแล้วจึงไถกลบเศษพืชที่ยังเขียวจะได้ประโยชน์น้อยกว่า
– ปลูกก่อนปลูกพืชหลักประมาณ 3 เดือน เช่น ปลูกพืชปุ๋ยสดประมาณปลายเดือนมกราคม แล้วไถกลบปลายเดือนมีนาคม แล้วจึงปลูกพืชหลักตาม
– ปลูกเป็นพืชแซม โดยปลูกแซมในแถวพืชหลัก เช่น ปลูกข้าวโพดแซมด้วยถั่วพร้า เมื่อพืชปุ๋ยสดได้อายุพอแล้วก็สับกลบลงในดินเพื่อให้พืชหลักได้รับธาตุอาหาร - ปุ๋ยชีวภาพ คือ การนำจุลินทรีย์ที่มีชีวิต หรือหัวเชื้อจุลินทรีย์ มาใช้เพิ่มปริมาณธาตุอาหาร หรือเพิ่มความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารในดิน ปุ๋ยชีวภาพอาจมีบทบาทในการปรับปรุงบำรุงดินทางชีวภาพ ทางกายภาพ และทางชีวเคมี
- ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ คือ การนำข้อดีของปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกผสมกับปุ๋ยชีวภาพ เป็นปุ๋ยที่เหมาะสำหรับการทำเกษตรอินทรีย์ โดยนำปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกมาผสมและหมักเพาะเชื้อกับปุ๋ยชีวภาพหรือหัวเชื้อจุลินทรีย์ จนถึงระยะเวลาที่พอเหมาะจึงนำไปใช้งาน
ซึ่งปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากการหมักบ่มจากพืชชนิดเดียว จะมีอัตราส่วนของธาตุอาหารสำหรับพืชที่ต่างกับการหมักบ่มพืชหลายชนิด และถ้าปุ๋ยนั้นมีส่วนผสมจากสัตว์ด้วยก็จะมีธาตุอาหารแตกต่างออกไปอีก แต่อย่างไรก็ตามปุ๋ยอินทรีย์ทุกแบบก็จะมีธาตุสำคัญที่เป็นธาตุหลักหรือธาตุปุ๋ย คือ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โพแทสเซียม (K) ครบถ้วนอยู่แล้ว จึงทำให้สามารถเลือกวัตถุดิบที่หาได้ง่ายและสะดวกในการนำมาทำปุ๋ยอินทรีย์เพื่อใช้งานได้
วิธีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์
การนำปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้ไปใช้ในการเกษตรแบบอินทรีย์ มีวิธีใช้ อยู่ 3 วิธีด้วยกัน คือ ใช้รองก้นหลุม ใช้คลุมดิน และใช้ผสมดิน
- ใช้รองก้นหลุม การใช้ปุ๋ยอินทรีย์รองก้นหลุมก่อนการปลูกพืช หรือ ผัก สามารถทำได้โดย การขุดหลุม สำหรับพืช หรือ ทำแปลงเป็นรูปตัววี สำหรับแปลงผัก ใส่อินทรียวัตถุต่างๆ ลงไปเป็นอันดับแรก เช่น หญ้า ฟาง ใบไม้ แล้วจึงใส่ปุ๋ยอินทรีย์ทับลงไป และฉีดพ่นด้วย เชื้อจุลินทรีย์ขยาย ให้ชุ่ม จากนั้นให้กลบดิน แล้วคลุมด้วยฟางหรือใบไม้ และรดเชื้อจุลินทรีย์ขยายอีกครั้ง หมักไว้อย่างน้อย 7 วัน จึงนำต้นพืชหรือผักมาปลูก
- ใช้คลุมดิน การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการคลุมดิน คือ การโรยปุ๋ยอินทรีย์บริเวณผิวดินหรือผิวแปลงที่ปกคลุมด้วยอินทรียวัตถุ เช่น หญ้า ฟาง ใบไม้ โดยไม่ต้องพรวน ฉีดพ่นด้วย เชื้อจุลินทรีย์ขยายให้ชุ่ม
- ใช้ผสมดิน การผสมดิน เป็นการนำปุ๋ยอินทรีย์มาผสมดินก่อนการปลูก กรณีใช้ โบกาฉิ ต้องหมักดินที่ผสมไว้อย่างน้อย 7 วัน ก่อนปลูกพืช
นอกจากนี้ การจะปลูกพืชผักให้เจริญเติบโตได้นั้น ยังมีส่วนประกอบอื่น ๆ ที่จำเป็น คือ ความชื้น และอุณหภูมิที่เหมาะสม
วิธีทำปุ๋ยอินทรีย์
สูตรปุ๋ยอินทรีย์เทียบเคียงปุ๋ยเคมีสูตรต่างๆ

- นำส่วนผสมทั้งหมด ยกเว้นรำอ่อน นำมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน
- นำกากน้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะลงผสมกับหัวเชื้อน้ำหมักจุลินทรีย์ 4 ช้อนโต๊ะ ลงในถังพลาสติกแล้วเติมน้ำเปล่าหรือน้ำซาวข้าว 20 ลิตร คนให้เข้ากัน แล้วรดกองปุ๋ยให้ชุ่มพอประมาณ
- ใส่รำอ่อนทั้งหมดลงในกองปุ๋ยและคลุกเคล้าให้เข้ากัน
- รดน้ำที่ผสมหัวเชื้อน้ำหมักจุลินทรีย์เพิ่มเติม และคลุกเคล้าจนกว่าจะใช้มือกำวัสดุที่ผสมให้แน่นแล้วปล่อย วัสดุจะติดต้องกันเป็นก้อนไม่แตกออกจากกัน (มีความชื้นประมาณ 60%)
- นำปุ๋ยใส่ในกระสอบ ประมาณ 3 ส่วน 4 ของกระสอบ และเก็บไว้ในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก ในวันแรกปุ๋ยจะมีความร้อนสูง จึงควรเปิดปากกระสอบไว้ก่อน 1 วัน
- จากนั้นมัดปากกระสอบ และวางกระสอบในแนวนอน ไม่ควรวางกระสอบซ้อนกัน และต้องพลิกกระสอบปุ๋ยทุกวัน เพื่อระบายความร้อนจนครบ 7 วัน
- เมื่อครบกำหนดให้วางกระสอบในแนวตั้ง และเปิดปากกระสอบระบายความร้อนทิ้งไว้อีก 1 คืน
- เมื่อปุ๋ยคลายความร้อนแล้วสามารถนำไปใช้งานได้
หมายเหตุ ปุ๋ยหมักสูตร 46-0-0 (โบกาฉิ) ใช้หว่านบนแปลงปลูกพืช ในอัตรา 1 กิโลกรัม ต่อ 1 ตารางเมตร แทนการใช้ปุ๋ยสูตรเคมี
สูตรปุ๋ยยูเรียน้ำ (46-0-0)
ส่วนผสมปุ๋ยยูเรียน้ำ
- ถั่วเหลือง 1 ส่วน
- สับปะรดสับชิ้นเล็กทั้งเปลือก 2 ส่วน
- กากน้ำตาล 3 ส่วน
- จุลินทรีย์หน่อกล้วย 1 ส่วน (สับหน่อกล้วยทั้งต้น สูง 1 เมตร ให้ละเอียดทั้งต้น คลุกเคล้ากากน้ำตาล 1 ลิตร หมักไว้ 10 วัน แล้วกรองเอาเฉพาะน้ำ)
- น้ำซาวข้าว หรือ น้ำมะพร้าว 10 ส่วน
วิธีทำการทำปุ๋ยยูเรียน้ำ
นำสับปะรดสับและถั่วเหลืองลงในถัง จากนั้นเอากากน้ำตาล จุลินทรีย์หน่อกล้วย น้ำซาวข้าว ผสมลงในถังหมัก แล้วคนให้เข้ากัน ปิดฝาหมักทิ้งไว้ 14 วัน กรองเอาแต่น้ำ นำไปใช้ตามต้องการ
One reply on “วิธีทำปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมักชีวภาพ”
[…] (ปุ๋ยอินทรีย์คืออะไร) โรยรอบบริเวณทรงพุ่มใต้ต้นไม้ […]