การกำจัดศัตรูพืชด้วยสมุนไพร
การบํารุงดูแลรักษาพืช นอกจากการให้ปุ๋ย ให้นํ้า รวมทั้งตัดแต่งกิ่งก้านให้อยู่ในสภาพที่ต้องการแล้ว การป้องกันและกําจัดศัตรูพืชเป็นสิ่งสําคัญเช่นกัน เนื่องจากการเจริญเติบโตของพืชในธรรมชาติจะมีศัตรูต่างๆ คอยรบกวน เช่น โรคที่เกิดจากเชื้อรา แบคทีเรีย หรือ ไส้เดือนฝอย แมลงปากกัด เช่น ด้วง หนอนต่างๆ หรือ แมลงปากดูด เช่น เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง เพลี้ยอ่อน ไรแดง เป็นต้น
ในการทำเกษตรอินทรีย์ การใช้สารออกฤทธิ์จากพืชสมุนไพรที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาป้องกันและกำจัดศัตรูพืชเป็นทางเลือกที่ดี แต่สารออกฤทธิ์จะแตกต่างกันไป ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของสมุนไพรที่นำมาใช้ แบ่งได้ตามลักษณะการทำงานได้ ดังนี้
สารไล่แมลง เป็นสารที่มีกลิ่น ระเหยง่าย ได้จากพืชที่มีน้ำมันหอมระเหย เช่น ตะไคร้หอม ข่า โหระพา ผกากรอง ว่านน้ำ กานพลู ยูคาลิปตัส ผิวส้ม ดาวเรือง
สารล่อแมลง เป็นสารที่มีกลิ่น ระเหยง่ายได้จากพืชที่มีน้ำมันหอมระเหย เช่นเดียวกันกับสารไล่แมลง แต่จะมีการทำงานตรงกันข้ามคือ ล่อให้แมลงเข้ามาหา เช่น ใบแก้ว ใบพลับพลึง เล็บมือนาง ดอกคำแสด ซึ่งสามารถดึงดูดแมลงวันทอง
สารยับยั้งการกิน การที่แมลงจะกินพืชชนิดใดนั้นขึ้นอยู่กับว่า พืชนั้นผลิตสารกระตุ้นการกินหรือไม่ ในทางตรงกันข้าม แมลงจะไมกินพืชที่มีการสร้างสารยับยั้งการกินในแมลงชนิดนั้น ซึ่งสังเกตได้ว่า พืชแต่ละชนิดมีแมลงศัตรูต่างชนิดกัน สารยับยั้งการกินของแมลงที่รู้จักกันดีคือ อะซาดิแรคติน ซึ่งได้จากเนื้อในเมล็ดสะเดา
สารยับยั้งการเจริญเติบโต ได้แก่ พืชที่มีสารพวกสเตียรอยด์ ที่มีผลต่อระบบประสาทของแมลง เกี่ยวข้องกับการส่งผ่านโซเดียมและโปแตสเซียมไอออนในเซลล์ประสาท เมื่อแมลงสัมผัสกับสารจะเกิดอาการตื่นเต้น สั่น และเป็นอัมพาตอย่างรวดเร็ว หรือเกี่ยวข้องกับการยังยั้งการส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาท สารพวกนี้ ได้แก่ ไพรีทริน นิโคติน สตริกนิน รบกวนระบบการหายใจของแมลง พืชที่มีคุณสมบัตินี้ได้แก่ หางไหลหรือโลติ้น ใบยาสูบ และสามารถยับยั้งการวางไข่และการลอกคราบของแมลงอีกด้วย
ข้อดีของการใช้สารสกัดจากพืชสมุนไพร
- สารสกัดจากพืชสมุนไพรมักสลายตัวได้ง่าย จึงไม่มีสารพิษตกค้างในผลผลิต ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้และผู้บริโภค
- สามารถทำใช้เองได้ง่าย ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ และลดค่าใช้จ่ายในการใช้สารเคมี
- แมลงศัตรูพืชไม่ดื้อต่อสารสกัดจากพืชเหมือนสารเคมีสังเคราะห์
ข้อเสียของสารสกัดจากพืชสมุนไพร คือ
- ไม่สามารถเก็บไว้ได้นานเพราะสารออกฤทธิ์สลายตัวได้ง่าย
- ไม่สามารถป้องกันและกำจัดศัตรูพืชได้ทุกชนิดที่ต้องการ
- ใช้เวลาและความถี่สูงในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช
ข้อควรปฏิบัติในการใช้สารสกัดจากพืชสมุนไพร
- ควรใช้สารสกัดชีวภาพจากพืชสมุนไพรแต่ละสูตรสลับกันไปทุก ๆ 5 – 7 วัน เพื่อป้องกันการดื้อยาของแมลงศัตรูพืช
- การหมักน้ำสกัดจากพืชสมุนไพรจากพืชบางชนิด เช่น พริก ข่า ตะไคร้หอม สะเดา ควรหมักไว้เพียง 1 – 2 คืน แล้วกรองเอาน้ำสกัดออกมาเก็บไว้ใช้จะมีประสิทธิภาพมาก หากหมักไว้เกินกว่า 3 วัน น้ำหมักจะมีกลิ่นบูดเน่า และสารที่จะกำจัดแมลงเสื่อมคุณภาพ
- การใช้น้ำสกัดสมุนไพรควรเริ่มใช้ในอัตราส่วนที่น้อยๆ ก่อน เช่น 5 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 10 ลิตร แล้วจึงเพิ่มอัตราส่วนขึ้นทีละน้อย เพราะพืชผักบางชนิดอาจจะเกิดการหยุดชะงักไม่เจริญเติบโต หรืออาจทำให้ยอดหรือใบไหม้ได้
- เศษพืชสมุนไพรที่กรองเอาน้ำหมักออกแล้ว สามารถนำไปใส่โคนต้นไม้ผล หรือหว่านในแปลงกล้าข้าว เพื่อขับไล่หรือกำจัดแมลงศัตรูพืชได้
ตัวอย่างการใช้สารสกัดจากพืชสมุนไพรในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช
กองวัตถุมีพิษทางเกษตรได้ทดลองสารสกัดจากสมุนไพร เพื่อทดสอบการใช้สารสกัดจากพืชสมุนไพรในการป้องกันและกำจัดแมลงในพืช ซึ่งได้ผลดังนี้
- ขมิ้นชัน สามารถป้องกันและกำจัดหนอนใยผักและหนอนกระทู้ผักได้ดี โดยใช้ขมิ้นชันแห้งครึ่งกิโลกรัมตำให้ละเอียดหมักในน้ำ 2 ลิตร ค้างคืน แล้วกรองเอากากทิ้ง นำส่วนที่สกัดได้ 200 มิลลิเมตร ผสมกับน้ำ 2 ลิตร ฉีดพ่นในแปลงผัก
- สาบเสือ สามารถป้องกันและกำจัดเพลี้ยอ่อนและหนอนกระทู้ผักได้ดี โดยนำใบสาบเสือแห้ง 400 กรัม มาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำ 3 ลิตร นำขึ้นต้มเป็นเวลา 10 นาที รอให้อุณหภูมิน้ำเย็นเป็นปกติแล้วกรองเอากากทิ้ง แล้วนำไปพ่นในแปลงมะเขือเปราะ
- ใบสะเดา สามารถป้องกันและจัดหนอนกระทู้ผักและหนอนใยผักได้ โดยการนำใบสะเดาแก่ที่เด็ดมาใหม่ๆ 200 กรัม ตำให้ละเอียด แล้วหมักใน 1 ลิตร ทิ้งไว้เป็นเวลา 2 คืน จึงกรองเอากากออก แล้วนำไปฉีดพ่นในแปลงผัก
- โล่ติ๊น สามารถลดการระบาดของตั๊กแตนปาทังกาได้ โดยการนำรากโล่ติ๊นอายุ 3-5 ปี สับให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วตากแห้ง น้ำหนัก 0.5 กิโลกรัม หมักกับน้ำ 20 ลิตร ทิ้งไว้ค้างคืน กรองเอากากออก แล้วนำไปฉีดพ่นในแปลงข้าวโพด และนอกจากนี้รากโล่ติ๊น 300 กรัม หมักในน้ำ 20 ลิตร สามารถกำจัดหนอนม้วนใบถั่วลิสงได้
- หนอนตายหยาก สามารถป้องกันหนอนหลอดหอมได้ดี โดยการนำรากหนอนตายหยากมาสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ ผึ่งให้แห้ง น้ำหนัก 200 กรัม หมักในน้ำ 1 ลิตร ทิ้งไว้ค้างคืน กรองเอากากออกแล้วนำ ไปฉีดพ่นในแปลงผัก
ชนิดของพืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช
- สมุนไพรรสจืด ได้แก่ ใบกล้วย ผักบุ้ง รางจืด และพืชสมุนไพรที่มีรสจืดทุกชนิด มีสรรพคุณ เป็นปุ๋ยบำรุงดิน ให้ดินมีความร่วนซุย โปร่ง ดินไม่แข็ง และใช้บำบัดน้ำเสีย
- สมุนไพรรสขม ได้แก่ เมล็ดหรือใบสะเดา ใบขี้เหล็ก บอระเพ็ด และพืชสมุนไพรที่มีรสขมทุกชนิด มีสรรพคุณ สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ต้นข้าว
- สมุนไพรรสฝาด ได้แก่ ปลีกล้วย เปลือกแค เปลือกสะเดา เปลือกมังคุด ใบฝรั่ง ใบทับทิม ขมิ้น และพืชสมุนไพรที่มีรสฝาดทุกชนิด มีสรรพคุณ ฆ่าเชื้อราในโรคพืชทุกชนิด
- สมุนไพรรสเปรี้ยว ได้แก่ มะกรูด มะนาว กระเจี๊ยบ และพืชสมุนไพรที่มีรสเปรี้ยวทุกชนิด มีสรรพคุณ ในการไล่แมลงโดยเฉพาะบริเวณกอข้าว
- สมุนไพรรสเบื่อเมา ได้แก่ ใบน้อยหน่า หัวกลอย ใบเมล็ดสบู่ดำ และพืชสมุนไพรที่มีรสเบื่อเมาทุกชนิด มีสรรพคุณ ฆ่าเพลี้ย หนอน และ แมลง ในพืชผักทุกชนิด
- สมุนไพรรสเผ็ดร้อน ได้แก่ พริก ขิง ข่า และพืชสมุนไพรที่มีรสเผ็ดร้อนทุกชนิด มีสรรพคุณ ในการไล่แมลง ทำให้แมลงแสบร้อน
- สมุนไพรรสหอมระเหย ได้แก่ ตะไคร้หอม ใบกะเพรา ใบเตย และพืชสมุนไพรที่มีรสหอมระเหยทุกชนิด มีสรรพคุณ เป็นน้ำหมักที่เปลี่ยนกลิ่นของต้นพืช เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงไปกัดต้นข้าว
วิธีการหมักน้ำหมักสมุนไพร
- ใช้วัตถุดิบสมุนไพรสับให้ละเอียด เป็นจำนวน 3 กิโลกรัม
- เทน้ำเปล่าจำนวน 10 ลิตร ใส่ถังพลาสติกแล้วเทกากน้ำตาล จำนวน 1 ลิตร แล้วคนให้กากน้ำตาลละลายเป็นเนื้อเดียวกันกับน้ำ
- เทวัตถุดิบที่สับละเอียดแล้วลงไปคนให้เข้ากันอีกครั้ง และปิดฝาให้สนิทตั้งไว้ในที่ร่ม เป็นเวลาประมาณ 3 เดือน จึงนำไปใช้ประโยชน์
วิธีใช้ประโยชน์ นำน้ำหมักที่กรองเฉพาะน้ำจำนวน 1 ลิตร ผสมกับน้ำเปล่า 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วทุก 3 วัน สำหรับพืชผัก และ ฉีดพ่นทุก 7 วัน สำหรับไม้ผล
ตัวอย่างสูตรสมุนไพรป้องกันและกำจัดศัตรพืช
1. สูตรสารสกัดจากสมุนไพรป้องกันและกำจัดศัตรูพืช
เป็นสูตรป้องกันเพลี้ยอ่อนและกำจัดหนอนต่างๆ เช่น หนอนใยผัก หนอนกระทู้ผัก หนอนคืบกระหล่ำปลี หนอนผีเสื้อกลางคืน เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน แมลงในยุ้งฉางมีส่วนผสม ดังนี้
- เมล็ดสะเดา 1 กิโลกรัม หรือ ใบแก่สะเดา 2 กิโลกรัม
- หัวข่าแก่ 2 กิโลกรัม
- ตะไคร้หอม หรือตะไคร้บ้าน 2 กิโลกรัม
วิธีทำ นำสมุนไพรทั้งหมด มาสับแล้วตำให้ละเอียด ใส่ภาชนะหมักแช่น้ำ 10 ลิตร ทิ้งไว้ 1 คืน จึงกรองเอาเฉพาะน้ำ 10 ลิตร ผสมน้ำ 100 ลิตร เพิ่มสบู่ 50 – 100 กรัม หรือสารจับใบ ควรละลายให้เข้ากันก่อนฉีดพ่น ทุกเช้าและเย็น ติดต่อกัน 2 – 3 วัน
ข้อควรระวัง ถ้าผสมน้ำยาเข้มข้นเกินไป จะทำให้ ผักกินใบ เช่น คะน้า กวางตุ้ง ใบกร้านและหยาบกระด้าง และการฉีดถั่วฝักยาวที่มีอายุน้อย และในช่วงออกดอก ควรผสมน้ำยาให้อ่อน หรือลดปริมาณน้ำยาต่อน้ำเท่ากับ 1 : 20 ไม่เช่นนั้นจะทำให้ต้นถั่วฝักยาวตายหรือดอกร่วงได้
2. สูตรน้ำหมักสมุนไพรชีวภาพเพื่อไล่แมลง
เป็นสูตรที่ใช้น้ำหมักชีวภาพและน้ำหมักสมุนไพรไลแมลงมาผสมกันเพื่อใช้งาน มีส่วนผสมดังนี้
- ผลไม้ดิบ สุก และเปลือก 3 ส่วน
- กากน้ำตาล 1 ส่วน
วิธีทำน้ำหมักชีวภาพ
นำผลไม้ทั้งดิบ สุก และเปลือกมาสับเป็นชิ้นเล็กๆ หมักผสมกับกากน้ำตาล คลุกเคล้าให้เท่ากันและปิดฝาภาชนะที่ใช้หมักให้สนิท เพื่อป้องกันไม่ให้อากาศเข้า ระยะ 4-5 วัน จะเริ่มมีของเหลวสีน้ำตาลอ่อนถึงแก่เกิดขึ้น ให้หมักต่อจนครบ 14 วัน ก็ถ่ายน้ำสกัดชีวภาพออกบรรจุขวดพลาสติกทึบแสง หากกระบวนการหมักยังไม่สมบูรณ์จะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิดขึ้น จึงต้องคอยเปิดฝาภาชนะที่บรรจุทุกวัน จนจะหมดก๊าซ
- สมุนไพรรวม เช่น สะเดา ตะไคร้หอม ฟ้าทลายโจร กระเทียม พริกขี้หนู ว่านหางจระเข้ ขิง ข่า และใบยาสูบ 1 ส่วน
วิธีทำน้ำสมุนไพรไล่แมลง นำสมุนไพรต่างๆ มาทุบหรือตำให้แตก ใส่น้ำให้ท่วม และหมักไว้ 1-2 คืน เพื่อสกัดและกรองเอาเฉพาะน้ำสมุนไพรมาใช้งาน
วิธีใช้น้ำหมักสมุนไพรชีวภาพเพื่อไล่แมลง
- ผสมน้ำสกัดชีวภาพ กับ น้ำสมุนไพร และ น้ำ ในอัตราส่วน 1 : 1 : 200
- ฉีดพ่นต้นพืชให้เปียกทั่ว และควรเริ่มใช้หลังต้นพืชเริ่มงอก ก่อนที่แมลงจะรบกวน
- ควรใช้ในตอนเช้าหรือหลังฝนตก อย่างสม่ำเสมอ
3. สูตรสมุนไพรกำจัดโรคทางดิน
- ใบสะเดาแก่สด 5 กิโลกรัม
- ใบสาบเสือแก่สด 1 กิโลกรัม
- เปลือกต้นแคสด 1 กิโลกรัม
- กระเทียมสด 0.5 กิโลกรัม
- ตะไคร้หอม 1 กิโลกรัม
วิธีทำน้ำสมุนไพรป้องกันและกำจัดโรค
นำส่วนสมุนไพรต่างๆ สับให้ละเอียด ผสมเหล้าขาว 40 ดีกรี 750 ซีซี และ หัวน้ำส้มสายชู 750 ซีซี และน้ำ 50 ลิตร หมักในถังพลาสติกและปิดฝา วางไว้ในที่ร่ม เป็นเวลา 2 วัน จึงกรองเอาเฉพาะน้ำมาใช้ประโยชน์
วิธีการใช้น้ำสมุนไพรในการป้องกันและกำจัดโรค
ผสมน้ำหมักสมุนไพร 2 ช้อนโต๊ะ หรือประมาณ 30 ซีซี กับน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่ม ทุก 3-5 วัน เพื่อป้องกันและกำจัดโรคทางดิน เช่น รากเน่า โค่นเน่า และเน่า